วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

สาบสูญ


สาบสูญ
          เมื่อบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ย่อมมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ดังกล่าวแล้วในเรื่องผู้ไม่อยู่ แต่หากให้ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ดูแลทรัพย์สินไปเรื่อยๆ  ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ไม่อยู่จะกลับมาเมื่อใด เพื่อเป็นการยุติปัญหานี้ กฎหมายจึงบัญญัติเรื่องสาบสูญไว้


          หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ

            มาตรา 61  ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
            ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
1.  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง  ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ
หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2.  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง  ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3.  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1)หรือ(2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
มาตรา 61  เป็นระยะเวลาที่ศาลจะอาศัยเป็นเหตุในการสี่งให้บุคคลใดสาบสูญเนื่องจาก
บุคคลผู้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลานานพอสมควร โอกาสที่จะมีชีวิตรอดกลับมาจึงน้อยมาก  กฎหมายจึงสันนิษฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้สาบสูญ  โดยแบ่งแยกเป็นสองกรณี คือ กรณีธรรมดา และกรณีพิเศษ

          หลักเกณฑ์ของมาตรา 61 แบ่งออกเป็น 5 ประการ คือ

1. บุคคลนั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ คือ  โดยไม่มีใครทราบว่า บุคคลนั้นไปจาก
บ้านหรือถิ่นที่อยู่แล้วไปที่ใด  (ต้องเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 ปี) ก็ถือว่าบุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลา 5 ปี  ให้นับในวันรุ่งขึ้น

2.  ไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร  กล่าวคือ ไม่แน่ว่าบุคคลดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่
หรือตาย  ถ้าหากมีใครพบเห็นหรือได้ทราบข่าวว่าบุคคลนั้นมีชีวิต หรือเห็นครั้งหลังสุดเมื่อใดกำหนดเวลา 5 ปีก็ต้องนับจากนั้นไป ไม่ใช่นับจากบุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  หรือหากทราบว่าบุคคลนั้นมีชีวิตอยู่ก็จะไม่เข้าหลักเกณฑ์การสาบสูญ  หรือถ้าทราบแน่ชัดว่าบุคคลนั้นตายก็จะไม่เข้าเรื่องสาบสูญเช่นกัน เพราะถ้าบุคคลตายแล้ว สภาพบุคคลของบุคคลนั้นก็จะสิ้นสุดตามมาตรา 15 วรรค 2 และทรัพย์สินของผู้ตายก็จะตกทอดไปยังทายาทโดยผลของกฎหมายทันที
          ข้อสังเกต  ถ้าผู้ไม่อยู่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่แล้วเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน แล้วมีใครไปพบเห็นเข้า ดังนี้ ก็จะทำให้ไม่สามารถนำมาตรา 61 มาใช้บังคับได้ กล่าวคือ การนับระยะเวลา 5 ปีนั้น ต้องเริ่มนับใหม่ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 193/3 เช่น ผู้ไม่อยู่ได้ไปจาภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน แล้ว มีผู้พบเห็นผู้ไม่อยู่ที่สิงคโปร์ ต่อจากนั้นก็ไม่เห็นเลย ดังนั้น จะทำให้ระยะเวลา 4 ปี 11 เดือนนั้นถูกลบล้างไป และมีผลทำให้ต้องเริ่มนับใหม่

3.    ระยะเวลาล่วงไปตามที่กำหนดไว้ในกรณีทั่วไป 5 ปี ในกรณีพิเศษ มาตรา 61 1(1)-(3)
เป็นเวลา 2 ปี นับแต่แรกที่ไม่มีใครทราบว่าตาย หรือทำนองเดียวกับมาตรา 48 วรรค 2  ถ้าไม่มีใครทราบข่าวเลยตั้งแต่แรกไปจากที่อยู่ก็นับเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจากวันนั้นตามมาตรา 193/3,193/4

4.    ผู้มีส่วนได้เสียหรือพักงานอัยการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้นั้นเป็นคนสาบสูญ ผู้มี
ส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้จะได้ประโยชน์หากศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญหรือจะเสียประโยชน์หากศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ดังนั้น ถ้าไม่ได้หรือเสียประโยชน์จากการที่ศาลสั่งแสดงความสาบสูญ ก็ไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลแสดงสาบสูญ เช่น เป็นผู้ไม่มีสิทธิรับมรดกก็จะร้องขอให้ศาลแสดงว่าเจ้ามรดกสาบสูญไม่ได้

3.    กรณีที่บุคคลใดตกอยู่ในอันตราย กฎหมายกำหนดเวลาเพียง 2 ปี โดยเริ่มนับแต่ 
1.     นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2.    นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3.    นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

คำว่า  อันตราย  (มาตรา 61 (3) )ในที่นี้หมายความถึงอันตรายแก่ชีวิต กฎหมายระบุกรณี
ไปอยู่ในการรบหรือสงคราม  ตกอยู่ในยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง  ถูกทำลาย หรือสูญหายไป หรือเหตุอื่น เช่น เพลิงไหม้ทั้งโรงงาน มีคนตายบ้าง มีคนหายสาบสูญไปบ้าง  หรือภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เกิดอุบัติเหตุ โดยการระเบิดของปรมาณู ดังนี้เป็นต้น  เมื่ออันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วและตลอดเวลานั้น ไม่มีใครทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่  บทบัญญัติดังนี้ไม่เปิดโอกาสให้ตีความว่านับตั้งแต่เริ่มมีอันตราย เช่น เริ่มตกอยู่ในสมรภูมิ โดยไม่มีใครทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่เพราะกฎหมายบัญญัตินับตั้งแต่วันสงครามสิ้นสุดลงหรือนับแต่วันที่ยานพาหนะนั้นอับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป หรือมีเหตุอันตรายได้ผ่านพ้นไป  ถ้ารบกันหกปีก็ต้องรอจนครบ 2 ปี หลังจากสงบศึก

1.    บุคคลซึ่งอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามนั้น

บุคคลซึ่งอยู่ในการรบหรือสงคราม จะเป็นบุคคลทั่วไป หรือเป็นทหารก็ได้  ดังนั้น ถ้า
เกิดสงครามในท้องที่นั้นและบุคคลนั้นอยู่ที่นั้น ๆ ก็ถือได้ว่าอยู่ในความหมายนี้
                    การรบหรือสงคราม  สงครามที่แท้จริงตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีการประกาศสงคราม เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2  ประเทศที่เข้าร่วมสงครามก็ได้ประกาศสงครามสำหรับสงครามในเวียดนามนั้น  ไม่มีประเทศใดประกาศสงคราม ไม่ว่าเวียดนามเหนือหรือสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ในกรณีสงครามกลางเมืองหรือสงครามเบ็ดเสร็จ Total Warfare  ไม่มีการประกาศสงคราม และฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็พยายามปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมสงครามด้วย  ถ้าพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศอาจจะไม่ใช่เป็นสงครามก็ได้  แต่เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของมาตรา 61 เข้าใจว่าบริเวณที่มีการต่อสู้ทำศึกเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสงครามแล้ว

          2.  ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง  ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
                    “ยานพาหนะ  มีความหมายกว้างรวมถึงอากาศยาน  เรือ และยานพาหนะอื่นซึ่งรวมถึงรถยนต์ด้วย
                    “อับปาง  หมายถึง  เรือแตก เรือล่ม เรือจม  ดังนั้น ก็ย่อมจะไม่รวมถึงเรือถูกจับ เช่นเรือประมงไทยที่เคยถูกพม่า เขมร หรือเวียดนามจับไปแล้วยึดเรือและจับลูกเรือไปขังเป็นปี ๆ ในกรณีนี้จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้
          3.  สำหรับข้อที่ว่า ไปตกต้องในฐานะที่จะเป็นภยันตรายแก่ ชีวิตประการอื่นใด เป็นกรณีทั่ว ๆ ไป นอกจากที่กล่าวมาใน (1)-(2) ได้ผ่านพ้นไป  เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้โรงงาน อุทกภัย อัคคีภัย โรคระบาดต่าง ๆ เป็นต้น
 
ผลของคำสั่งแสดงความสาบสูญ

            มาตรา 62  บุคคลซึ่งอาจได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61

            ผลของคำสั่งศาลที่สั่งให้ผู้ไม่อยู่เป็นคนสาบสูญในกรณีทั่วไป กฎหมายให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร  และในกรณีพิเศษนั้นให้นับแต่เมื่อครบ 2 ปีนับแต่เหตุการณ์ตาม 61(1)-(3) ให้สิ้นสุดลง (มาตรา 62)  อันจะกระทบกระเทือนถึงทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ
ต่าง ๆ ของผู้สาบสูญด้วย  แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลมีคำสั่งแสดงความสาบสูญแล้ว มีผลย้อนหลังขึ้นนับตั้งแต่วันครบกำหนดเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี ไม่ใช่วันที่ศาลมีคำสั่งสาบสูญ เมื่อศาลมีคำสั่งสาบสูญแล้ว ทรัพย์สินของผู้สาบสูญก็จะกลายเป็นมรดก (มาตรา 1602 และมาตรา 1599)  ตามมาตรา 1602  เมื่อบุคคลใดถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62  แห่งประมวลกฎหมายนี้  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  สิทธิหรือฐานะทั้งหลายอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้สาบสูญก็สิ้นสุดลง  ไม่อาจตกทอดเป็นมรดก (มาตรา 1600) ถ้าผู้สาบสูญได้ประกันชีวิตก็ทำให้ผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตเรียกเงินจากบริษัทประกันชีวิตได้
          อย่างไรก็ตาม  กรณีที่กฎหมายมุ่งเฉพาะการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตายโดยสาบสูญ เช่น เรื่องการขาดจากการเป็นสามีภริยา ตามมาตรา 1516 (5)  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องฟ้องหย่า จึงจะขาดจากการเป็นสามีภริยา  ทั้งนี้ ก็เพราะมาตรา 1501 บัญญัติว่า  ความตายหรือการหย่าเท่านั้นเป็นเหตุให้ขาดจากการสมรส  และตามมาตรา 1501 ใช้คำว่า ความตาย ต้องหมายถึง ตายตามธรรมชาติ  ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 1516 (5) มิฉะนั้นแล้วมาตรา 1516 (5) ก็จะเป็นหมันและขัดต่อมาตรา 1452 ทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495  ดังนั้น  ถ้าหากว่าสามีถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว หญิงไปทำการสมรสโดยไม่ได้ฟ้องหย่าก่อน ผลเป็นไปตามมาตรา 1452 ประกอบกับมาตรา 1495

          มาตรา 1640  การรับมรดกแทนที่  เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้  และตามมาตรา 1652  การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม  ทั้งนี้เพราะในส่วนที่เกี่ยวกับทายาทโดยธรรมสืบเนื่องจากการที่กฎหมายวางหลักไว้ใน มาตรา 1604  ว่าทายาทที่จะมีสิทธิรับมรดกได้ต่อเมื่อทายาทนั้นมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย  ฉะนั้น หากทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิรับมรดกคนใดถึงแก่ความตายไปเสียก่อนเจ้ามรดกตาย ทายาทคนนั้นก็ไม่มีสิทธิรับมรดก กรณีที่ทายาทโดยธรรมคนนั้นต้องคำสั่งศาลแสดงสาบสูญ ซึ่งมาตรา 62  ให้ถือว่าถึงแก่ความตายตามกฎหมาย  ก็คือว่าไม่มีสิทธิรับมรดก ถือเสมือนว่าไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย กรณีนี้มาตรา 1642  ให้ผู้สืบสันดานของทายาทโดยธรรมที่สาบสูญนั้นรับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา 1639
          นอกจากนี้  มาตรา 1566(2)  อำนาจการปกครองตกอยู่แก่มารดาแต่ผู้เดียว  เมื่อไม่แน่นอนว่าบิดามีชีวิตยู่หรือตาย
          มาตรา 58 (3)  อำนาจของผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

การถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญ

            มาตรา 63  เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญนั้นเอง  หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ  ร้องขอต่อศาลและพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังมีชีวิตอยู่ก็ดีหรือว่าตายในเวลาอื่น ผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี  ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญสั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริต ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
            บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  แต่ต้องเสี่ยสิทธิของตนไป  เพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

            การที่ศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 คือ บุคคลที่ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่รู้ว่าบุคคลนั้นอยู่หรือตาย แม้การตายเป็นการสันนิษฐานเด็ดขาด ถ้าหากต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่อาศัยเป็นมูลแห่งคำสั่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นตามไปด้วย จึงต้องเพิกถอนคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1.    พิสูจน์ได้ว่าบุคคลที่สาบสูญนั้นยังมีชีวิตอยู่
2.    พิสูจน์ได้ว่าบุคคลที่สาบสูญตายในเวลาอื่นผิดไปจากที่แสดงว่าสาบสูญ
3.    มีผู้ร้องขอให้ศาลสั่ง  ซึ่งอาจเป็นผู้สาบสูญเองยังไม่ตายจึงมาร้องขอ หรือ ผู้มีส่วนได้
เสียหรือพนักงานอัยการซึ่งอาจร้องขอได้ทั้งในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ตาย หรือตายในเวลาอื่นด้วย

ที่ว่าตายในเวลาอื่นคงจะหมายถึงมีหลักฐานแสดงว่า มีผู้พบผู้สาบสูญตายก่อน
หรือหลังวันเริ่มนับกำหนด 5 ปี ทำให้วันตายเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งศาลต้องถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งสาบสูญใหม่  ผลของคำสั่งถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญย่อมลล้างผลของคำสั่งเดิม ไม่ถือว่าเป็นการตายตามหลักเกณฑ์เดิม หรือถ้าตายในเวลาอื่น ดังนั้น มรดกย่อมตกทอดไปยังทายาทต่างกันไป ทรัพย์ที่ได้ไปเป็นมรดกย่อมต้องกลับคืนสภาพเดิม หรือแบ่งกันใหม่ตามเวลาตายที่ตายจริง  เหตุนี้บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งเดิมย่อมถูกกระทบกระเทือน เช่น ต้องคืนทรัพย์ที่ได้รับเป็นมรดกมา แต่ถ้าไม่มีทรัพย์จะคืนให้ มาตรา 63 จึงบัญญัติว่า การถอนคำสั่งนั้นไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้กระทำไปโดยสุจริตก่อนมีคำสั่งเพิกถอน และบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่คำสั่งแสดงความสาบสูญ ในกรณีที่ได้มาโดยสุจริตส่งคืนทรัพย์ตามหลักเรื่องลาภมิควรได้

          ที่ว่าทำไปโดยสุจริต คือ ผู้ทำกิจการนั้นหรือผู้ที่ได้ทรัพย์ไป  ไม่รู้ในขณะที่ทำการนั้นว่าความจริงไม่เป็นไปตามที่ศาลให้สั่งแสดงความสาบสูญ  กล่าวคือ ไม่รู้ว่าขณะที่ทำการนั้นว่าความจริงไม่เป็นไปตามที่ศาลให้สั่งแสดงความสาบสูญ กล่าวคือ ไม่รู้ว่าผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่รู้ว่ามีผู้พบเห็น  แต่เข้าใจว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนหรือตายหลังจากวันได้ปรากฏในคำสั่งเดิม  หากรู้ความจริงถือว่าไม่สุจริต  ทั้งนี้ ไม่ต้องถึงกับมีเจตนาฉ้อโกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น