แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 7

                       บุคคล
  “บุคคล” ในปัจจุบันแบ่งเป็นสองประเภทคือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

สำหรับบุคคลธรรมดาคือ บุคคลตามธรรมชาติ มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คือ เกิด แก่เจ็บ ตาย ส่วนนิติบุคคล ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะมีกฎหมายพิเศษจัดตั้ง หรือจัดตั้งโดยการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ นอกจากนั้นในทางทฤษฎีก็สามารถแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นนิติบุคคลเอกชน เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน มูลนิธิ และสมาคม เป็นต้น และ นิติบุคคลมหาชน เช่น กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้นสาระสำคัญและในทางปฏิบัติอาจจะมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน บุคคลที่เป็นผู้แทนก็มีลักษณะแตกต่างกัน การบริหารจัดการก็แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้กฎหมาย จึงต้องศึกษาทำความเข้าใจให้กระจ่างและใช้กฎหมายให้ถูกต้องด้วย

ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้เกิดการค้นคว้า วิจัย และทดลองปฏิบัติ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย สังคม และจริยธรรม เช่นการแปลงเพศ มนุษย์โคลนนิ่ง  และเด็กที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มท้อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับ “บุคคล” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบันน่าจะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาสังคมและจริยธรรมจะมีความสำคัญยิ่งกว่า อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อนำมาใช้บังคับเป็นกรณีๆ  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม และศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนการคุ้มครองพิทักษ์รักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ให้เหมาะสมที่สุด กรณีที่จะกล่าวมีดังต่อไปนี้คือ
1.             การแปลงเพศ
2.             มนุษย์โคลนนิ่ง
3.             เด็กที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มท้อง
บุคคลดังกล่าวยังมีสภาพบุคคลดา ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด แต่อาจจะมีปัญหาด้านครอบครัว มรดก อำนาจปกครอง ความสมบูรณ์ของสัญญาว่าจ้างอุ้มท้อง ความเป็นบิดามารดา ปัญหาการจัดการทรัพย์สิน ปัญหาจริยธรรมศีลธรรม ทั้งนี้ดังรายละเอียดย่อๆ ดังต่อไปนี้
               
1.              การแปลงเพศ
ด้วยความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดบุคคลที่มีเพศชายแล้วแปลงเป็นเพศหญิงได้ สำหรับในกรณีนี้ ตามกฎหมายไทยบุคคลที่แปลงเพศยังมีสถานะภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายตามปกติ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับสถานะภาพที่เป็นเพศหญิง หรือเพศชายตามกฎหมายไทยในปัจจุบันได้ถือตามธรรมชาติ ดังนั้น บุคคลผู้ใดที่ทำการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อเพศของตนตามหลักฐานที่ปรากฏในทะเบียนสำมะโนครัว ฉะนั้นสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของบุคคลนั้นก็คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด เว้นแต่จะมีกฎหมายบางประเทศซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น สิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่เป็นเพศชาย ก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ เช่นหน้าที่จะต้องรับราชการทหารตามกฎหมาย การจดทะเบียนสมรส การรับจดทะเบียนบุตรบุญธรรม ในฐานะเป็นบิดาหรือมารดา ก็ต้องเป็นไปตามสถานะภาพทางทะเบียนของบุคคลนั้น

2.              มนุษย์โคลนนิ่ง
วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เจริญก้าวหน้า การศึกษาวิจัยและการดำเนินกระบวนการที่เรียกว่า “Cloning” ในส่วนที่พัฒนาด้านสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ได้ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น แกะ “Dolly” ที่ประเทศออสเตรเลีย การทำ Cloning วัว คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับการพัฒนา Cloning ที่เป็นมนุษย์ กล่าวคือ การทำมนุษย์เกิดขึ้นโดยไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยเชื้อของฝ่ายชายและไข่ของฝ่ายหญิงตามธรรมชาติ แต่เกิดจากระบวนการที่เรียกว่า “Human Embryo Cloning วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาไปไกล และใกล้ความสำเร็จ เพียงแต่ขาดงบประมาณสนับสนุน สหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 1980-1990 งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อส่งเสริมการวิจัยไนเรื่องนี้ ได้ถูกระงับในรัฐบาลของประธานาธิบดี Ronald Reagan และ Bush ทั้งนี้เพราะได้รับความกดดันจากพรรค Republican ด้วยเหตุผลด้านจริยธรรมและศีลธรรม ตลอดจนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ต่อมารัฐบาลของ Clinton ก็มีนโยบายไม่สนับสนุน

นอกจากปัญหาจริยธรรม ศีลธรรม และสังคมแล้ว ยังอาจมีปัญหาทางกฎหมายบางประการ สำหรับในประเด็นปัญหา เรื่องสภาพของบุคคลภายใต้หลักกฎหมายของไทย  รศ.ประสิทธิ์  โฆวิไลกูล เห็นว่า ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพบุคคล เพราะแม้จะมีบุคคลเกิดขึ้นโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อและแม่ก็คงจะไม่มีปัญหา คนที่เกิดมาก็มีสภาพบุคคลตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ส่วนปัญหาทางสถานะภาพทางครอบครัวก็ดี กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวก็ไม่น่าจะมีปัญหาประการใด แต่ปัญหาด้านสังคมนั้น เข้าใจว่าเป็นปัญหาใหญ่และยังไม่ทราบว่าจะรุนแรงแค่ไหน เพียงใด เข้าใจว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังไม่มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาด้านนี้ จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนในอนาคตนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นการใด

         
3.              เด็กที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มท้อง
เด็กที่เกิดจากสัญญารับจ้างอุ้มท้อง เด็กที่เกิดมาย่อมมีสภาพบุคคลธรรมดาเป็นมนุษย์ ตามหลักกฎหมายแพ่ง เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ ทั่วไป
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและมีการโต้เถียงไม่เป็นที่ยุติคือ สัญญารับจ้างอุ้มท้อง เป็นสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาการตีความสัญญาของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันตามพื้นฐานของจารีตประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาของแต่ละศาสนา นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับใครเป็นบิดามารดาของเด็กที่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาการแย่งเด็กระหว่างหญิงซึ่งเป็นเข้าจองไข่ และหญิงที่รับจ้างอุ้มท้อง ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมและเป็นปัญหากฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสภาพบุคคลของเด็กแต่ประการใด
 
ส่วนที่ 1
สภาพบุคคล

การเริ่มสภาพบุคคล
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15  บัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย
ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”

          สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ฉะนั้น ทารกในครรภ์มารดาไม่เป็นบุคคล กฎหมายโรมันเดิมถือว่าทาสไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสิ่งของ เป็นกรรมสิทธิ์ของนายผู้มีอำนาจเหนือทาส และตามกฎหมายการเริ่มสภาพบุคคล ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
1.   คลอดแล้ว
2.  อยู่รอดเป็นทารก

1.    คลอดแล้ว
การคลอดในที่นี้ หมายถึง การที่ทารกพ้นจากช่องคลอดของมารดา ถ้าโผล่ออกมาเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เช่น ศีรษะ ยังไม่ถือว่าเป็นการคลอด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับภาษอังกฤษ ใช้คำว่า “Full Completion of birth” หมายความว่า การคลอดหมดตัว กล่าวคือ ทารกได้หลุดพันจากช่องคลอดมารดาโดยสมบูรณ์ ก็ถือว่าทารกได้คลอดแล้วตามหลักของ มาตรา 15 แล้ว แม้แพทย์ยังไม่ได้ตัดสายรกของทารกก็ถือว่าการคลอดได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว

2.    อยู่รอดเป็นทารก
เดิมเชื่อกันว่า ทารกที่แสดงการมีชีวิตนั้น ต้องมีการหายใจ ถ้าทารกยังไม่หายใจ ย่อมไม่ถือว่ามีชีวิต ความรู้ในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การหายใจอย่างเดียวไม่ได้แสดงถึงการมีชีวิต การแสดงออกอย่างอื่นนอกจากการหายใจ อีกหลายอล่างอาจแสดงว่าทารกนั้นมีชีวิต เช่น การเต้นของหัวใจ การเต้นของสายสะดือ การเคลื่อนไหวของร่างกายและอื่นๆ  เพราฉะนั้น แม้เด็กที่คลอดออกมาไม่อายใจ แต่หัวใจเต้นย่อมถือว่าทารกคลอดมีชีวิตแล้ว ในทางแพทย์นั้น เด็กที่คลอดออกมาตัวเขียวและไม่หายใจ ถ้าหัวใจยังเต้นอยู่ก็ต้องรีบช่วยให้มีการหายใจ และก็มีผลทำให้เด็กหายใจเองได้ในเวลาต่อมา ดังนั้น เด็กที่คลอดออกมาแล้วมีอาการแสดงของชีวิตอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมถือได้ว่ามารกที่คลอดมีชีวิตแล้ว อาการแสดงว่าชีวิตนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า "sign of separate existence” ซึ่งได้แก่ การหายใจ การร้อง การเต้นของหัวใจ การเต้นของสายสะดือ การเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ ว่วนกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงอธิบายว่า “ตามธรรมชาติเมื่อมารดาได้คลอดบุตร และบุตรนั้นมีชีวิตตลอดมาก็ดี ฤามีอยู่เพียงครู่เดียวก็ดี บุตรนั้นย่อมเป็นบุคคลในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ สายสะดือ จะได้ตัดแล้วฤายังไม่ได้ตัดไม่เป็นข้อสำคัญ”
ความเห็นเช่นนี้ เป็นที่ยอรับกันทั่วไปขององค์การอนามัยโลก ได้ตกลงให้คำจำกัดความของทารกคลอดมีชีวิตไว้ ดังต่อไปนี้
“การคลอดมีชีวิต คือ ผลิตผลของการปฏิสนธิถูกขับออกมาจากร่างกายมารดาหมดทั้งตัว โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาการตั้งครรภ์ และเมื่อทารกนั้นออกมาจากร่างกายมารดาแล้ว มีการหายใจหรือแสดงหลักฐานของการมีชีวิต เป็นต้นว่า หัวใจเต้น สายสะดือเต้น มีการเคลื่อนไหวชัดเจนของกล้ามเนื้อที่อยู่ในอำนาจของจิตใจ โดยไม่คำนึงถึงว่าการตัดสายสะดือแล้วหรือยัง หรือทารกยังติดอยู่กับมารดาหรือไม่ การคลอดเช่นนั้นถือว่าเป็นการคลอดมีชีวิต”


การสิ้นสุดสภาพบุคคล

            การตายคืออะไร คำถามนี้เสมือนว่าจะตอบไม่ยากเพราะใครๆ ก็รู้ว่าการตายคืออะไร และรู้กันเป็นเวลานับพันปีแล้ว บุคคลที่ตายแล้วก็ไม่มีใครที่ฟื้นชีวิตอีก การตายของบุคคลนั้น หมายความว่า บุคคลนั้นสิ้นบุญ ถึงแก่กรรมแล้ว มีอาการดังนี้ คือหัวใจหยุดเต้น ไม่มีลมหายใจ และไม่มีการเคลื่อนไหวของร่ายกายอย่างสิ้นเชิง

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

          การตายนั้น สามารถแบ่งแยกได้เป็น 3 กรณี คือ
                1. การตายตามธรรมชาติ (Natural Death)
                2. การตายโดยผลของกฎหมาย (Civil Death)
                3. การตายทางการแพทย์ที่เรียกว่า “สมองตาย” (Brain Death)

1.   การตายตามธรรมชาติ (Natural Death)

คนตายหรือสิ้นชีวิตนั้น เป็นการสิ้นสภาพบุคคล แต่เมื่อไรจึงจะถือว่าตายหรือสิ้นชีวิตนั้น ต้องพิจารณาถึงกลไกการทำงานของร่ายกายมนุษย์ ซึ่งมีระบบสำคัญ ๆ หลายส่วน การดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่ได้ 3 ระบบ คือ
1.1    ระบบประสาทกลาง ได้แก่ สมอง
1.2    ระบบไหลเวียน  ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด
1.3   ระบบหายใจ ได้แก่ หลอดลม และปอด

ทั้ง 3 ระบบนี้มีความสัมพันธ์กันมาก สมองเป็นอวัยวะควบคุมการทำงานของปอดหัวใจในการหายใจและการเต้นของหัวใจเป็นจังหวะ การหายใจเป็นการรับออกซิเจนเข้ากระแสโลหิต การเต้นของหัวใจเป็นการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่ายกาย รวมทั้งเลี้ยงสมอง หัวใจ และปอดให้มีชีวิต มีพลังงานอยู่ได้ ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าเกิดการขัดข้องขึ้นที่ระบบหนึ่งระบบใดจะทำให้ระบบอื่นๆ อีก 2 ระบบ ย่อมรวนแรหรือแปรปรวนไปด้วย ถ้าศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองถูกทำลาย การหายใจก็จะหยุดเกิดภาวะขาดออกซิเจนขึ้นทั้งร่างกาย หัวใจที่ขาดออกซิเจนก็ไม่สามารถเต้นต่อไปได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าการทำงานของ 3 ระบบที่กล่าวแล้วมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด แต่การทำงานของสมองนั้น คนทั่วไปไม่อาจจะแลเห็นได้เหมือนกับการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ดังนั้น เดิมการวินิจฉัยคนตายจึงอาศัยการหยุดทำงานของการหายใจ และหัวใจเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนี้วิทาศาสตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก มีเครื่องมือที่สามารถวัดการทำงานของสมองได้ มีเครื่องมือที่ช่วยการหายใจที่หยุดแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ มีเครื่องมือที่ใช้สูบฉีดโลหิตแทนการเต้นของหัวใจได้ ดังนั้น  การตัดสินการตายจึงต้องเปลี่ยนไปจากหลักการเดิม โดยต้องพิจารณาว่าคนจะตายเมื่อปราศจากการทำงานของ 3 ระบบดังกล่าวแล้ว กล่าวคือ สมองหยุดทำงานโดยตรวจด้วยการวัดคลื่นสมองด้วยไฟฟ้า หัวใจหยุดเต้น และหายใจเองไม่ได้ ทั้ง 3 ประการนี้ประกอบกันจึงถือว่าคนตาย  และการทำงานของสมองควรพิจารณาว่ามีความสำคัญที่สุด

                2. การตายโดยผลของกฎหมาย (Civil Death)

การที่บุคคลถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญตามมาตรา 61 ซึ่งจะมีผลให้ถือว่าถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ใช้คำว่า “ตายโดยผลกำหมายสมมติ”

                3. การตายทางการแพทย์ที่เรียกว่า “สมองตาย” (Brain Death)
     ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย” คำว่า “สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย” นั้น กฎหมายไมได้วิเคราะห์ศัพท์หรืออธิบายว่า “ตาย” หมายความว่าอย่างไร คืออะไร ตามปกติ ตามความเข้าใจของมนุษย์ปุถุชนตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบันก็เข้าใจว่า การตายของบุคคลคือ การหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น หรือชาวบ้านเรียกว่า สิ้นลมหายใจ หรือหมดลมหายใจ หรือสิ้นใจ ไม่มีโอกาสที่จะฟื้นชีพอีก การที่ ระบบของสมอง การหายใจ และหัวใจ ทั้งสามระบบหยุดทำงานอย่างถาวร ไม่มีทางจะกลับคืนหรือเยียวยา การไม่กลับคืนเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการตายแบบนี้เรียกว่า Classical Concept หรือ Traditional Concept of Death ส่วนในทางแพทย์นั้น การตายหมายถึงการหยุดทำงานอย่างถาวรของระบบประสาทส่วนกลาง ระบบการหายใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิต เพราะตามปกติแล้วอวัยวะทั้งสามระบบจะต้องทำงานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องกัน


สิทธิของทารกในครรภ์มารดา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรค 2 บัญญัติไว้ว่า ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
บทบัญญัติในวรรคสองนี้ สอดคล้องกับสุภาษิตลาตินว่า “หากทารกปฏิสนธิ ให้ถือว่าได้เกิดแล้วทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวด้วยประโยชน์ของทารกนั้นเกิดขึ้น” ซึ่งเป็นการบัญญัติให้การเริ่มสภาพบุคคลของทารกมีผลย้อนหลังหลังไปถึงเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมีเรื่องเกี่ยวด้วยประโยชน์ของทารกนั้นเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องทำให้ทารกเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์แล้ว การเริ่มสภาพบุคคลของทารกไม่มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ทารกนั้นอยู่ในครรภ์มารดา

ในตอนท้ายของวรรคนี้ บัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ว่าทารกในครรภ์มารดาจะต้องอยู่รอดเป็นทารก สภาพบุคคล สภาพบุคคลจึงจะย้อนหลัง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในวรรคแรกที่ว่าสภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก การอยู่รอดเป็นทารกจึงเป็นเงื่อนไขของการเริ่มสภาพบุคคลในวรรค 2 ด้วย

นอกจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้ว สิทธิทารกในครรภ์มารดาจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นด้วย เช่น เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี[1] และสิทธิในการรับมรดก มาตรา 1604 บัญญัติว่า “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือความสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
การที่มาตรา 1604 ได้อ้างถึงมาตรา 15 ทั้งนี้ ก็เพราะว่าตามหลักทั่วไปแล้ว ผู้ที่จะเป็นทายากของเจ้ามรดกจะต้องมีสภาพบุคคล แต่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์มารดาเพื่อให้สิทธิได้รับมรดก จึงเป็นการบัญญัติให้ชัดเจนตามที่ไดกล่าวมาแล้วข้างต้นว่าทารกในครรภ์มารดาไม่เป็นบุคคล อนึ่งมาตรานี้เพิ่มเงื่อนไขในการที่ทารกในครรภ์มารดาจะมีสิทธิรับมรดก โดยกำหนดว่าทารกนี้จะต้องเกิดมารอดอยู่ภายใน 310 วัน นับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย จึงจะมีสิทธิรับมรดก

ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังเกิดรอดอยู่ มีปัญหาอะไรบ้าง จะตีความอย่างไร ตาที่กล่าวมาแล้ว บุคคลย่อมเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิและเป็นผู้ผูกพันกับหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า บุคคลเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดสิทธิ มีสิทธิและใช้สิทธิต่างกับสัตว์โลกอื่นๆ อนึ่ง ตามหลักแล้วทารกในครรภ์มารดาย่อมไม่มีสิทธิตามกฎหมาย  แต่มาตรา 15 วรรค 2 กฎหมายยอมรับรองสิทธิต่างๆ ของทารกในครรภ์มารดา หากว่าภายหลังเกิดมาแล้วอยู่รอดเป็นทารก เป็นการขยายหลักแห่งการรับรองสิทธิของบุคคล

ตามมาตรา 15 วรรค 2 คือ ทารกในครรภ์มารดาที่คลอดแล้วอยู่รอด นอกจากมีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา 1604 แล้ว ทารกยังมีสิทธิประการอื่นๆ อีกมากมาย อาทิเช่น
1.      ทารกในครรภ์มารดาหากว่าภายหลังเกิดมารอดอยู่แล้ว มีสิทธิฟ้องผู้กระทำละเมิดต่อมารดาของทารกจนเป็นเหตุทำให้ทารกนั้นพิการ เพราะการประทุษร้ายต่อร่างกายมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้อธิบายว่า วรรคสองของมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ได้บัญญัติทารกก็อาจจะมีสิทธิต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องพิจารณาสิทธิเช่นนั้นว่าได้มีกฎหมายบ่งไว้โดยเฉพาะหรือไม่ ทั้งนี้พอเทียบได้กับประมวลกฎหมายแพ่งสวิส มาตรา 31วรรค 2 รศ.ประสิทธิ์  โฆวิไลกูล มีความเห็นว่า การเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง (ละเมิด) นั้น น่าจะเรียกได้ด้วยเหตุผลที่ว่ามาตรา 15 วรรค 2 ใช้คำว่า “มีสิทธิต่างๆ “ ซึ่งหมายความว่าสิทธิหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะสิทธิการรับมรดก

     แต่ในการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ประทุษร้ายต่อมารดาของทารกจนเป็นเหตุทำให้ทารกนั้นพิการ เห็นว่ากรณีนี้ ทารกคงจะไม่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เพราะผู้กระทำประทุษร้ายมิได้กระทำต่อทารกโดยตรง ทารกเป็นส่วนหนึ่งของมารดา ทารกในครรภ์ไม่มีสภาพบุคคล ตามหลักกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญขององค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ส่วนการที่ผู้กระทำจะต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายธรรมดา หรือทำร้ายร่างกายสาหัสแล้วแต่กรณี กรณีนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อทารกเพราะขาดองค์ประกอบความผิดทางอาญา หรือเป็น Legal Impossibility แต่กรณีดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะประทุษร้ายต่อทารกในครรภ์ และเล็งเห็นผลได้ว่าทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทารกซึ่งคลอดออกมาแล้วรอดอยู่เป็นทารกก็สามารถฟ้องคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวได้

แต่ในกรณีทำให้เสียทรัพย์ตามข้อ 3. ที่จะกล่าวต่อไป เพราะเจ้าของกรรมสิทธิ์สามารถติดตามเรียกทรัพย์คืนจากผู้อื่นได้เสมอ ผู้ใดทำให้เสียทรัพย์ก็ต้องรับผิดต่อเจ้าจองตลอดเวลา

2.      ทารกในครรภ์มารดา หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก มีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้กระทำละเมิดต่อบิดาหรือมารดาของตนตามมาตรา 443 [2]
ทารกในครรภ์มารดา ถ้าคลอดออกมามีสภาพบุคคล ก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายจากบิดามารดา ถ้าบิดามารดาถูกทำละเมิดตายลงในขณะที่บุคคลนั้นเป็นผู้เยาว์ บุคคลนั้นก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา 443 แต่ถ้าบิดาถูกทำละเมิดตายลงนั้น ยังมีบุตรที่ยังอยู่ครรภ์มารดา จะถือได้หรือไม่ว่า บุตรในครรภ์มารดานั้นต้องขาดไร้อุปการะลงเพราะการละเมิดนั้น เห็นว่าน่าจะถือได้ แต่จะถือได้ต่อเมื่อได้คลอดมาแล้วมีสภาพบุคคล เพราะเมื่อคลอดแล้วไม่มีบิดาที่จะให้ความอุปการะเลี้ยงดู ผู้ที่ทำให้บิดาตายลงก็ต้องรับผิดในการที่บุคคลนั้นต้องขาดไร้อุปการะ ไม่ขัดกับหลักเรื่องความรับผิดในทางละเมิดแต่อย่างใด เพราะผู้กระทำละเมิดไม่จำต้องรู้ก่อนว่า ผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูใครบ้าง แต่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดเพราะเกิดจากการกระทำของตนตามมาตรา 420

3.      ทารกในครรภ์มารดาหากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก มีสิทธิฟ้องผู้ทำให้ทรัพย์อันเป็นมรดกของทารกเสียหายก่อนทารกเกิด ในฐานะเป็นผู้รับมรดกหรือในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์
ปัญหานี้เห็นว่า ทารกมีสิทธิจะฟ้องได้ทั้งละเมิดในทางแพ่ง (มาตรา 420) หรือทำให้เสียทรัพย์ในทางคดีอาญาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพราะว่าทรัพย์เหล่านั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทารกโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และกองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท โดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม อนึ่ง เด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นทายาทของเจ้ามรดกด้วย ฉะนั้น เมื่อทารกมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์นั้น ผู้ใดมาประทุษร้ายต่อทรัพย์นั้น ทารกย่อมเป็นผู้เสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญาแล้วแต่กรณี

4.      ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทมารดาและทารกในครรภ์มารดา เมื่อทารกคลอดออกมาก็ปรากฏว่าต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมื่นหรือถูกเกลียดชัง เพราะการใส่ความนั้น ก็น่าจะถือว่าทารกเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีนี้จะตีความว่าการกระทำไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดก็ดูจะไม่ถูกต้อง เพราะผู้กระการใส่ความก็ย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะเกิดความเสียหายแก่ทารกอย่างแน่นอน


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536
[2] มาตรา 443  วรรค 3 บัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

 
ส่วนที่ 2  ความสามารถบุคคล


ความสามารถของบุคคล
(ผู้หย่อนความสามารถ)

                ความสามารถของบุคคล (Capacity) คือ การที่บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ และสามารถใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามกฎหมายได้
          ความสามารถในการใช้สิทธิ หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ตัวผู้มีสิทธิเองและเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก
          บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ หรือเป็นผู้หย่อนความสามารถนั้น ได้แก่ บุคคลที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบ หรือมีความรู้สึกผิดชอบไม่เต็มที่ และไม่สามารถใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้โดยลำพัง กฎหมายจึงได้บัญญัติให้เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือหย่อนความสามารถ โดยตัดทอนความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน บุคคลผู้หย่อนความสามารถในทางกฎหมายไทย มี 4 ประเภทได้แก่
1.    ผู้เยาว์ (Minor)
2.    คนวิกลจริต
3.    คนไร้ความสามารถ
4.    คนเสมือนไร้ความสามารถ

1.ผู้เยาว์ (Minor)
            ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กล่าวคือ อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ( ป.พ.พ. มาตรา 19)  แต่ผู้ที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถบรรลุนิติภาวะได้ หากได้ทำการสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมายกล่าวคือ ชายและหญิงที่ทำการสมรส จะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์  เว้นแต่กรณีมีเหตุสมควร ศาลจะอนุญาตให้การสมรสก่อนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 20)
          การบรรลุนิติภาวะ ยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกประการหนึ่งก็คือ การที่ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมในการประกอบธุรกิจทางการค้า หรือธุรกิจอื่น หรือทำสัญญาจ้างเข้าเป็นลูกจ้างแรงงาน ซึ่งในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานนี้ กฎหมายถือว่า ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 27)
           

การทำนิติกรรมของผู้เยาว์
          เนื่องจากบุคคลที่ถูกเรียกว่าผู้เยาว์ยังเป็นเด็ก เป็นผู้ขาดประสบการณ์ บางครั้งอาจไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ขาดวิจารณญาณ ซึ่งหากปล่อยให้ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ อาจก่อให้เกิดความเสียเปรียบคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้เยาว์อยู่ภายใต้การควบคุมและช่วยเหลือของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” โดยวิธี “การให้ความยินยอม” เสียก่อน ดังนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงถือเป็นหลักว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดที่ผู้เยาว์ทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้น การนั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” (ป.พ.พ. มาตรา 21)

          ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บุคคลที่คอยควบคุมดูแลช่วยเหลือผู้เยาว์ ตามกฎหมายได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
1.             บิดาและมารดา
                                                                         เรียกว่า   “ผู้ใช้อำนาจปกครอง”
2.             บิดาหรือมารดาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
3.             ผู้ปกครอง 

          ผู้ปกครองมีได้กรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามาราดาแต่ถูกศาลถอดถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว  และศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหลายคนที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นผู้ดูแลควบคุมผู้เยาว์  ดังนั้น หากผู้เยาว์มีบิดามารดาและไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครอง  ผู้ปกครองย่อมไม่อาจมีได้เลยนั่นเอง (ป.พ.พ. มาตรา 1585)
         
            ข้อยกเว้นการทำนิติกรรมของผู้เยาว์
                นิติกรรมที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 21 ได้แก่
1. การใดๆ ที่ผู้เยาว์กระทำเพื่อให้ได้สิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (ป.พ.พ. มาตรา 22) เช่น การที่ผู้เยาว์ได้รับทรัพย์สินมาโดยเสน่ห์หา ไม่มีเงื่อนไข หรือภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้นซึ่งไม่ทำให้ผู้เยาว์เสียสิทธิหรือรับภาระหน้าที่เพิ่ม หรือ ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมรับการปลดหนี้โดยลำพังเพื่อให้หลุดพ้นจากการชำระหนี้
2.     การใดๆ ที่ผู้เยาว์จะต้องทำเองเป็นการเฉพาะตัว (ป.พ.พ มาตรา 23) เช่น การรับรองบุตรของผู้เยาว์ (รับรองลูกของตนเอง)  การทำพินัยกรรม
3.     การใดๆ ที่ผู้เยาว์กระทำลง อันเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีพตามสมควร ( ป.พ.พ. มาตรา 24) เช่น การซื้ออุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย
4.     ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้ เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ (ป.พ.พ. มาตรา 25)
5. ผู้เยาว์อาจจำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ หรือถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร (ป.พ.พ. มาตรา 26)
คำว่า จำหน่ายในที่นี้ นอกจากจะหมายถึง การขายทรัพย์สินหรือการให้ทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นแล้ว ยังหมายรวมถึงการอนุญาตให้ซื้อทรัพย์สินได้อีกด้วย เพราะการซื้อก็เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นกัน
เช่น ให้เงินผู้เยาว์ไปซื้อนาฬิกา ผู้เยาว์ก็ต้องไปซื้อนาฬิกา  แต่หากไม่ระบุว่าให้ซื้ออะไร  ผู้เยาว์จะซื้ออะไรก็ได้
6.   การที่ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมในการประกอบธุรกิจทางการค้า หรือธุรกิจอื่น หรือทำสัญญาจ้างเข้าเป็นลูกจ้างแรงงาน ซึ่งในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานนี้ กฎหมายถือว่า ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้เยาว์มีอำนาจกระทำนิติกรรมต่างๆ ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก แต่เฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจ หรือการทำสัญญาจ้างแรงงาน ภายในขอบเขตที่ตนได้รับอนุญาตเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 27)

2.คนวิกลจริต
            คนวิกลจริต  ได้แก่ คนที่สมองพิการ จิตไม่ปกติ สติวิปลาส ขาดความสำนึก และความรู้สึกผิดชอบ ไม่สามารถประกอบกิจการงานของตนเองหรือกิจการส่วนตัวของตนเองได้
          กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองคนวิกลจริตที่ยังไม่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  กล่าวคือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ซึ่งบัญญัติว่า “การใดๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้ กระทำในขณะที่บุคคลนั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”
          ดังนั้น สรุปได้ว่า โดยหลักคนวิกลจริตยังสามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้เป็นปกติและมีผลสมบูรณ์  นิติกรรมของคนวิกลจริตที่กระทำลงจะเป็นโมฆียะ ก็ต่อเมื่อครบเงื่อนไข 2 ประการ คือ
1.             ได้กระทำลงในขณะที่บุคคลนั้นวิกลจริต  และ
2.             คู่กรณีอีกฝ่ายรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต
         
          อย่างไรก็ตาม ในเรื่องพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะเป็นโมฆะ ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำพินัยกรรมวิกลจริตอยู่ (ป.พ.พ. มาตรา 1704 วรรคสอง)
               
3.คนไร้ความสามารถ
            คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  กล่าวคือ บุคคลใด
เป็นคนวิกลจริต หากคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน
กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือ
พนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ   ศาลจะสั่งให้
บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคแรก) และเมื่อบุคคลวิกลจริต
ใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ศาลจะต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาลของ“ผู้อนุบาล”  การ
แต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว (ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง) และคำสั่งศาลที่สั่งให้บุคคลใด
เป็นคนไร้ความสามารถจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสาม)
               
คนวิกลจริตในที่นี้ ได้แก่ คนบ้าที่จิตไม่ปกติหรือเกิดจากสมองพิการ แต่คนวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ต้องเป็นพวกวิกลจริตที่มีอาการหนักเป็นอย่างมาก ถึงขนาดไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่สามารถบังคับจิตใจหรือการกระทำได้ตลอดเวลา และที่สำคัญ ไม่สามารถจัดการงานได้ด้วยตนเอง“ผู้อนุบาล” คือ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลคนไร้ความสามารถ ให้ความช่วยเหลือและดูแลทรัพย์สินตลอดทั้งทำหน้าที่ต่างๆ แทนคนไร้ความสามารถนั่นเอง  ซึ่งอาจจะเป็น บิดา มารดา ผู้ปกครอง สามี ภริยา หรือบุคคลอื่นที่ศาลเห็นว่าสามารถดูแลคนไร้ความสามารถได้


            การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
          คนไร้ความสามารถ จะถูกจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมทุกอย่างโดยไม่มีข้อยกเว้น  หากการใดที่บุคคลที่ศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 29)  ซึ่งรวมทั้ง พินัยกรรม หากคนไร้ความสามารถได้ทำพินัยกรรมขึ้น  พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะทันที (ป.พ.พ. มาตรา 1704)

          การเพิกถอนคำสั่งศาล
            ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลง หรือหมดไปแล้ว  และเมื่อบุคคลผู้นั้นเอง หรือ
คู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน
ลื้อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อ
ศาล ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น  และคำสั่งเพิกถอนนี้ ให้ประกาศในราช
กิจจานุเบกษาด้วย

4.คนเสมือนไร้ความสามารถ
          คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลที่หย่อนความสามารถอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเพราะมีเหตุบกพร่องของร่างกายบางอย่าง เช่น กายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา  ทำให้ไม่สามารถจัดทำการงานของตนได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

         เมื่อบุคคลใดมีพฤติกรรมดังกล่าว หากคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย
ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแล
บุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้
ความสามารถก็ได้

          และบุคคลใดที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  ศาลจะต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ของ “ผู้พิทักษ์” การแต่งตั้งผู้พิทักษ์   ให้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว   และคำสั่งศาลที่สั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

            การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ
            คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น โดยหลักแล้ว สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้ และมีผลสมบูรณ์ เพราะคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นเพียงคนที่มีเหตุบกพร่องบางประการจนไม่สามารถจัดทำการงานของตนได้เองเท่านั้น
          แต่อย่างไรก็ตาม มีนิติกรรมหรือกิจการบางประเภทที่คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะสามารถกระทำได้ กิจการดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ (ป.พ.พ. มาตรา 34)
1.             นำทรัพย์สินไปลงทุน
2.             รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน  ต้นเงิน หรือทุนอย่างอื่น
3.             กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืม หรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
4.             รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
5.             เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี
6.             ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป หรือเพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
7.             รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
8.             ทำการอย่างอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
9.             ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
10.      เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ เว้นแต่การร้องขอในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่อนุญาตให้ตนทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเหล่านี้โดยไม่มีเหตุอันควร หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
11.      ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
12.      กรณีอื่นใดซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ซึ่งปรากฏในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ ผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง
          อย่างไรก็ตาม หากคนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวมาได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
                หากคนเสมือนไร้ความสามารถฝ่าฝืนกระทำไปด้วยตนเองโดยปราศจากความยินยอมของผู้พิทักษ์  การนั้นเป็น “โมฆียะ”
                ในกรณีที่ผู้พิทักษ์ ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถ สามารถกระทำการอย่างอย่างใดที่กล่าวมาโดยปราศจากเหตุอันควร  เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถร้องขอ  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้กระทำการนั้น โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก็ได้  ถ้าหากการนั้นจะเป็นคุณประโยชน์แก่คนเสมือนไร้ความสามารถ
            คำสั่งศาลที่สั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

            การเพิกถอนคำสั่งศาล
                ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลง หรือหมดไปแล้ว  และเมื่อบุคคลผู้นั้นเอง หรือคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาล ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  และคำสั่งเพิกถอนนี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
คนเสมือนไร้ความสามารถ สามารถทำพินัยกรรมได้ ไม่ต้องห้าม
ตาม ป.พ.พ. ม. 1704 และ มาตรา 34